ความหมาย

เด็กสมองพิการ(Cerebral Palsy) หรือคำย่อที่นิยมเรียก คือ เด็กซี พี (C.P.) ไม่ใช่เป็นโรคเฉพาะ แต่เป็นคำรวมของกลุ่มอาการของผู้ป่วยเด็กที่มีความพิการอย่างถาวรของสมอง ความพิการนี้จะคงที่และไม่ลุกลามต่อไป ซึ่งมีผลให้การประสานงานของการทำงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง ส่งผลให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น การเกร็งของใบหน้า ลิ้น ลำตัว แขน ขา การทรงตัว การทรงท่าในขณะนั่ง ยืน เดิน ผิดปกติหรืออาจเดินไม่ได้

นอกจากนี้ อาจมีความผิดปกติในการทำงานของสมองด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความบกพร่องในการมองเห็น ได้ยิน การรับรู้ การเรียนรู้ สติปัญญา และโรคลมชัก เป็นต้น

สาเหตุ

อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 25 หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีการเจริญเติบโตของสมอง คือ ตั้งแต่ระยะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 7-8 ปี

โดยแบ่งสาเหตุการเกิดได้ 3 ระยะ คือ

1. ระยะที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาหรือระยะก่อนคลอด(prenatal period) นับตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 6 เดือน ซึ่งได้แก่

1.1 ภาวะการติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน ซิฟิลิส เริม มาเลเรีย เอดส์ เป็นต้น

1.2 ภาวะการขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ เช่น มารดาที่มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์คล้ายจะแท้ง หรือมีการลอกตัวของรกก่อนกำหนด มารดาขาดอาหารหรือซีดมาก

1.3 ภาวะขาดสารอาหารที่มีคุณค่าของมารดา เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหารต่างๆ

1.4 มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เด็กอาจตัวใหญ่ผิดปกติ ทำให้เกิดอันตรายจากการคลอดได้ หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงมาก อาจทำให้มีเลือดออกในสมองของเด็กได้

1.5 ยาและสารพิษบางอย่างที่มารดาได้รับมากเกินปกติ (ตะกั่ว ปรอท บุหรี่ สุรา)

1.6 ความผิดปกติของสมองโดยกำเนิด เช่น ภาวะน้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ สมองไม่เจริญ สมองลีบ สมองเล็ก

1.7 ความผิดปกติของโครโมโซม

1.8 รก และสายสะดือไม่สมบูรณ์

 

2. ระยะระหว่างคลอด(perinatal period)

นับตั้งแต่ 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์จนถึงสัปดาห์แรกหลังคลอด ได้แก่

2.1 เด็กคลอดก่อนกําหนด และเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย คือ ต่ำกว่า 2,500 กรัม จะมีความเสี่ยงสูงที่จะสมองพิการ

2.2 ภาวะการขาดออกซิเจนในเด็กระหว่างคลอด จากการคลอดลำบาก คลอดผิดปกติ เช่น คลอดท่าก้น หรือสายสะดือพันคอ เด็กสำลักน้ำคร่ำ หรือ การคลอดที่ต้องใช้เครื่องช่วย เช่น คีมคีบ หรือ เครื่องดูดศีรษะ

2.3 ภาวะกลุ่มเลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน ทำให้เด็กคลอดออกมาตัวเหลือง

2.4 การคลอดโดยใช้ยาระงับปวดบางชนิด เช่น มอร์ฟีน หรือการฉีดยาเข้าไขสันหลัง เพื่อระงับปวดระหว่างคลอด อาจเสี่ยงกับการขาดออกซิเจนในเด็กได้

 

3.ระยะหลังคลอด (postnatal period) ได้แก่

3.1 ภาวะสมองเด็กขาดออกซิเจน เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด การวางยาสลบ การจมน้ำ หรือมีอาการชัก

3.2 การติดเชื้อของเด็ก เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ โรคหัด เป็นต้น

3.3 อุบัติเหตุที่ทำให้มีอันตรายต่อสมองของเด็ก เช่น กะโหลกร้าว มีเลือดออกในสมอง

อาการ

ส่วนใหญ่พ่อแม่มักพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี สังเกตได้จากเด็กจะมีท่านอนผิดปกติจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกร็ง เด็กอายุมากกว่า 5 เดือน กำมือมากกว่าแบมือ หรือในเด็กที่มีอายุมากว่า 2 ปียังไม่สามารถเดินได้ เป็นต้น จำเป็นต้องพาเด็กเข้ารับการตรวจรักษาทันทีเมื่อสังเกตพบความผิดปกติ

 

(ที่มาrajanukul.com)

 

โรคนี้เป็นโรคที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และการจัดท่าทางของเด็ก ซึ่งจะไปส่งผลให้เด็กมีความยากลำบากในการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว โรคนี้มีสาเหตุมาจากการได้รับอาการบาดเจ็บทางสมองซึ่งอาจเกิดได้ทั้ง ขณะตั้งครรภ์อยู่ในท้องคุณแม่ ขณะกำลังคลอด หรือในขวบปีแรกหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว

ประเภทของโรคสมองพิการ

สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือแบ่งตามรูปแบบการเคลื่อนไหว ( type of movement disorder)

แบ่งโรคตามรูปแบบการเคลื่อนไหว แบ่งได้ดังนี้

  1. กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง Spasticity (hypertonicity)
  • – มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อในระดับสูง
  • – มีลักษณะเกร็ง ของอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น แขน ขา ทำให้เกิดการขัดขวางต่อการเคลื่อนไหว
  • – มีความยากลำบากในการเปลี่ยนท่าทางของร่างกาย
  • – อาจมีลักษณะยึดติด แข็งเกร็งของข้อต่อส่วนต่างๆ (stiffness)
  1. Athetosis
  • – มีการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมได้
  • – ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา
  • – มีความยากลำบากในการทรงตัว
  • – มีความยากลำบากในการทรงท่า
  • – มักพบปัญหาการได้ยินร่วมด้วย
  1. Ataxia
  • – ส่วนต่างๆของร่างกายกระตุกไปมา ควบคุมไม่ได้ (jerking)
  • – มีความยากลำบากในการคงสมดุลของร่างกาย
  • – เด็กกลุ่มนี้อาจสามารถเดินได้ แต่ไม่มั่นคง หรือล้มบ่อย
  • – อาจมีการกระตุกของลูกตา และกล้ามเนื้อในการพูดร่วมด้วยพบได้น้อยที่สุด
  • – มีอาการสั่นโดยควบคุมไม่ได้ (tremor)
  1. กล้ามเนื้ออ่อนแรงกว่าปกติ Hypotonicity
  • – ความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำกว่าปกติ
  • – เด็กไม่สามารถทรงท่าส่วนต่างๆของร่างกายได้
  • – เด็กไม่สามารถควบคุม หรือทำการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้หรือได้แต่น้อย
  • – ส่วนต่างๆของร่างกายมีลักษณะปวกเปียก (floppy)
  • – มีภาวะน้ำลายไหล (drooling)

(ที่มา : อ.นนทิชา ถาวรไพบูลย์บุตร สาขาวิชากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล)

การรักษา

การรักษาทางกายภาพบำบัด

การรักษาทางกายภาพบำบัดเริ่มให้การรักษาตั้งแต่แรกเกิด การรักษาไม่มีวิธีการที่แน่นอนตายตัว ขึ้นกับลักษณะของความผิดปกติและความรุนแรงของพยาธิสภาพ โดยโปรแกรมการรักษา จะกำหนดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละรายเฉพาะตัว ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะเริ่มจากการตรวจประเมินพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและการทรงท่า เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

 

การรักษาทางกิจกรรมบำบัด

ได้แก่ การตรวจประเมินพัฒนาการด้านใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา การฝึกการดูดกลืน การฝึกทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน การแต่งกาย การรับประทานอาหารด้วยตนเอง การฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและมือเพื่อป้องกันข้อติดแข็งและการผิดรูปของข้อต่อ กระตุ้นการรับรู้ประสาทสัมผัส การจัดระเบียบการรับรู้และตอบสนอง เป็นต้น

การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เสริมร่วมกับการรักษา

เด็กสมองพิการชนิดเกร็งมักจะมีอุปกรณ์พิเศษเข้ามาช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น เฝือกอ่อนพยุงข้อเท้า (ankle foot orthoses-AFO) เพื่อป้องกันการยึดติดของเอ็นร้อยหวายในเด็กที่มีข้อเท้าจิกเกร็งลง และมีการเกร็งแอ่นของเข่าที่เป็นผลจากการจิกเกร็งลงของข้อเท้า การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน (walker) รองเท้าตัด เป็นต้น


Comments are closed.